ผ่านโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ความร่วมมือบูรณาการระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน (PPP: Public-Private-People Partnership) เปลี่ยนจังหวัดสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 ความร่วมมือในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ ลดก๊าซมีเทน การปลูกหญ้าเนเปียร์พืชพลังงานสูง และนำของเหลือจากการเกษตรและขยะชุมชนไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งร่วมกับชุมชนในการสร้างป่าชุมชนต้นแบบของจังหวัดที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน”  

ขยะชุมชนเชื่อมคนสองวัย
นางจิตรา ป้านวัน (พี่หนู) ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ’ 
 
ผู้ชักชวนเด็ก ๆ ในชุมชนสร้างพลังขับเคลื่อนสังคม ร่วมแก้ปัญหา ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ” ผ่านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือภายในชุมชน เชื่อมเยาวชนและผู้สูงวัยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พัฒนาชุมชนให้สะอาด น่าอยู่ พร้อมมุ่งสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ
 
พี่หนูใช้เวลานอกราชการ ทุกวันเสาร์–อาทิตย์ ศึกษาปัญหาในพื้นที่ตำบลนาไม้ไผ่ 14 หมู่บ้าน 3,000 ครัวเรือน เริ่มต้นจากหมู่ 13 เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล พบว่าปัญหาสำคัญของชุมชนคือขยะ จึงกระตุ้นจิตสำนึกให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความรักบ้านเกิด ช่วยกันดูแลชุมชน โดยเข้าไปทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ เปิดใจ และชักชวนร่วมกลุ่ม เริ่มต้นจากเด็ก 15 คน ตั้งกลุ่ม “กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ” ปัจจุบันมีถึง 8 รุ่น ที่เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการขยะ
 
พี่หนูเชื่อมโยงคน 2 วัยในชุมชน โดยนำเด็ก ๆ ไปเยี่ยมเยียนผู้ที่มีความเป็นอยู่ลำบาก เพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ร่วมกันทำความสะอาดและจัดการขยะ เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของผู้สูงวัยและผู้พิการ ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน